Admin_support
chalermphol@qmlcorp.com
เว็บไซต์สำหรับฟรีแลนซ์ (836 อ่าน)
27 ธ.ค. 2559 02:47
เราเปิดตัว Launch วันแรกวันที่ 1 ธันวาคม 2558 หลังจากนั้น 1 อาทิตย์ 500 TukTuks ก็ลงทุนกับเราแล้ว
บทสัมภาษณ์ส่วนหนึ่งจาก คุณวสะ สุภาโชค เอี่ยมสุรีย์ หรือคุณตั๊บ ผู้ก่อตั้ง Fastwork.co เว็บไซต์ที่จะมาเปลี่ยนแปลงวงการฟรีแลนซ์ในประเทศไทย แค่เปิดตัวก็น่าสนใจแล้วใช่มั้ยล่ะครับ ถ้าอยากรู้ว่า Startup Idol ในวันนี้มีทีเด็ดยังไงถึงคว้าใจ 500 TukTuks และ Dtac Accelerate มาได้ด้วยการเปิดตัวเพียง 10 เดือนล่ะก็ ตามไปชมกันเลยครับ
ก่อนจะเป็น Startup ที่คนค่อนประเทศให้ความสนใจ ต้องผ่านการลองผิดลองถูกมานับครั้งไม่ถ้วน
จุดเริ่มต้นของคุณตั๊บ ในฐานะผู้ก่อตั้ง Fastwork เริ่มต้นจากการเรียนโรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษจนกระทั่งปริญญาตรี เมื่อเรียนจบก็ได้รับงานฟรีแลนซ์ ออกแบบกราฟิก ทำโมเดล และได้ทำงานที่บริษัทอีกหลายแห่ง จนสุดท้ายคุณตั๊บได้ตัดสินใจเรียนปริญญาโทที่นิวยอร์ก 2 ปีเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ต่อ หลังจากนั้นได้นำวิชาชีพที่ร่ำเรียนมาไปใช้ในการทำงานที่บริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ที่สุดในอเมริกา “วันหนึ่งเพื่อนที่เรียนที่นั่นก็ชวนทำ Startup เพราะเค้าเห็นเราออกแบบเป็น ก็ให้เราออกแบบแอปให้ ทำไปทำมาก็รู้สึกว่าชอบ ได้กลับไปเจอบรรยากาศเดิม ๆ ยุคเมื่อ 3 ปีที่แล้ว Startup ก็เริ่มบูมด้วย พอได้ทำแอปของตัวเองเราก็รู้สึกสนุกกว่าทำงานบริษัท
9 ใน 10 ของ Startup จะล้มเหลวตั้งแต่ปีแรกที่เริ่ม
ทำให้คุณตั๊บตัดสินใจลาออกจากงานประจำ มาทำ Startup เต็มตัว และเมื่อทำไปได้สักพักก็ได้ คุณอาพร พลานุเวช หรือคุณใหม่ (ผู้ร่วมก่อตั้ง Fastwork ในปัจจุบัน) มาช่วยงานอยู่ 9 เดือน จากคนแค่ 2-3 คน ก็กลายเป็น 10 คนในระยะเวลาอันรวดเร็ว แต่สุดท้าย Startup นั้นก็ไปไม่รอด สอดคล้องกับสถิติที่บอกกันอยู่เสมอว่า Startup 10 ราย จะมีแค่รายเดียวเท่านั้นที่รอดมาได้ “เราไม่เคยเป็นนักธุรกิจมาก่อน ก็ยังไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตอนนั้นก็เป็นจุดเริ่มต้นให้เรากับพี่ใหม่มาคุยกัน ถึงเราจะไม่ประสบความสำเร็จ แต่เราได้เป็นเพื่อนกัน ได้ทำงานด้วยกัน เราเลยชวนกันมาทำธุรกิจที่ไทย เพราะตลาดไทยยังมีอะไรให้ทำอีกเยอะ”
Startup ที่ดี คือ Startup ที่สร้างขึ้นเพื่อแก้ปัญหา ซึ่ง Fastwork ก็เริ่มขึ้นจากตรงนั้น
จากการเรียนรู้ของประสบการณ์ตัวเองที่ว่า การทำ Startup ควรทำขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาบางอย่าง ทำให้คุณตั๊บนึกถึงตอนที่เคยเป็นฟรีแลนซ์อยู่อเมริกา และมองกลับมาที่เมืองไทย ก็พบว่าไม่มีอะไรตอบโจทย์การเป็นฟรีแลนซ์เลยสักอย่าง แต่ทั้งคุณตั๊บและคุณใหม่ก็ยังไม่ประมาท ได้มีการสำรวจตลาด และสอบถามคนรู้จักถึงช่องทางการทำฟรีแลนซ์ จนสุดท้ายได้ข้อสรุปว่าประเทศไทยยังไม่มีช่องทางตรงนี้จริง ๆ จึงเป็นจุดเริ่มต้นของ Startup เพื่อฟรีแลนซ์อย่างที่เราได้เห็นกันในทุกวันนี้ Fastwork
หลังจากที่คุณตั๊บและคุณใหม่ตัดสินใจร่วมทีมกันสร้าง Fastwork ก็ได้ Launch ผลิตภัณฑ์เวอร์ชั่นแรกซึ่งมี Option แค่ไม่กี่อย่างขึ้นมา ทำได้แค่ลงงานขายของตัวเองบนเว็บไซต์และรับเงินจากผู้ว่าจ้างเท่านั้น “ตรงนี้แหละที่เราเข้ามาแก้ มันคือเรื่องของเงิน เมื่อผู้ว่าจ้างหาฟรีแลนซ์ที่ต้องการได้แล้วเค้าก็แชทคุยกับฟรีแลนซ์ผ่านเว็บไซต์ได้ทันที กดจ้างงาน และชำระเงินผ่านเว็บไซต์ เราถือเงินไว้ก่อน เมื่อฟรีแลนซ์ส่งงานเรียบร้อยตามผู้ว่าจ้างต้องการ เราค่อยโอนเงินให้ฟรีแลนซ์ ซึ่งตรงนี้เราก็ทำได้ดี”
อ่านมาถึงตรงนี้คงรู้จักกับ Fastwork กันแล้วใช่มั้ยครับ ซึ่งนอกจากจะเป็นเว็บไซต์หาฟรีแลนซ์สำหรับประเทศไทยแล้ว Fastwork ยังเป็นพื้นที่ตัวกลางที่คอยหางานให้เหล่าฟรีแลนซ์ เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับทางออนไลน์ซะส่วนใหญ่ กราฟิก ครีเอทีฟ นักเขียน นักคอมพิวเตอร์ต่าง ๆ เป็นการรวมกลุ่มและหาผู้ว่าจ้างให้ คล้าย ๆ สังคมใหญ่ ๆ สังคมหนึ่งเลยล่ะ
ตอบปัญหาที่คนไทยไม่เข้าใจ พร้อมแนะนำระบบดี ๆ ที่รักษามาตรฐานให้ Fastwork จนถึงทุกวันนี้
ด้วยความที่คนไทยยังไม่ชินกับการจ่ายเงินให้เว็บไซต์ หลาย ๆ คนยังนึกอยู่ว่าเว็บไซต์ไม่มีค่าใช้จ่าย สามารถทำได้ฟรี ๆ อุปสรรคของ Fastwork ก็คือเรื่องนี้ เค้าก็ไม่เข้าใจว่าทำไมเราต้องเก็บเปอร์เซ็นต์ด้วย ซึ่งเราเก็บเปอร์เซ็นต์ตรงนี้ก็เพื่อมาโฆษณาทำการตลาดให้คุณ ให้พวกคุณมีงานเข้ามา ซึ่งฟรีแลนซ์คนไหนมาลงงานกับ Fastwork ภายในแค่อาทิตย์เดียว คุณได้งานแน่นอน ถ้าไปประกาศบนเว็บไซต์อื่น เดือนหนึ่งอาจจะได้มาแค่งานเดียวหรือไม่ได้เลยด้วยซ้ำ
ทาง Fastwork เองก็มีเครื่องมือในการรักษามาตรฐานให้สังคมภายในเว็บไซต์เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ คงคุณภาพของฟรีแลนซ์และความถูกใจของผู้ว่าจ้างอยู่ตลอดเวลา ซึ่งก็คือระบบการให้คะแนนนั่นเอง “ปัญหาใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมเอาท์ซอร์สก็คือ เรื่องของความน่าเชื่อถือ ฟรีแลนซ์ก็กลัวผู้ว่าจ้างไม่โอนเงินให้ ผู้ว่าจ้างก็กลัวฟรีแลนซ์ได้เงินแล้วหนี ซึ่ง Fastwork ก็เข้ามาทำให้ความน่าเชื่อถือตรงนี้มากยิ่งขึ้น
คู่แข่ง ไม่ใช่เรื่องที่ Fastwork กลัว
ไม่ต้องห่วงเลยว่าจะมีใครขึ้นมาเทียบเคียงกับ Fastwork ได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้ เพราะไม่มีใครกล้าทำแบบที่ Startup รายนี้ทำ นั่นก็คือการถือเงินผู้ว่าจ้างไว้ และมีการคัดกรองฟรีแลนซ์อย่างเข้มงวด มีการเก็บประวัติ หลักฐานการสมัครต่าง ๆ และที่สำคัญ พวกเค้าลงเงินกับการตลาดเยอะมาก ทำให้ฟรีแลนซ์ทุกคนสามารถได้งานภายในระยะเวลาอันสั้น ปกป้องทั้งเงินของผู้ว่าจ้างและผลงานของฟรีแลนซ์
Dtac Accelerate จุดพลิกผันที่ทำให้ Fastwork ดังเปรี้ยงปร้าง
เราเห็นตามงานสัมมนาและบนเฟซบุ๊ก ก็ศึกษาดูว่าโครงการนี้ดียังไง ก็ถามคนที่เคยเข้าร่วมเก่า ๆ ว่าดีมั้ย เค้าก็บอกว่าดี เราก็ลองไปเข้าดู เค้าก็ให้การสนับสนุนเราหนักมาก เพราะเค้ารู้จักสื่อเยอะ ช่วยโปรโมทเราได้ มี Mentor (ที่ปรึกษา) ให้เรา มีเงินลงทุนให้ มีออฟฟิศฟรี มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ให้เพื่อสนับสนุน Startup ที่เพิ่งเริ่มแบบเรา คนสมัครก็ 500 คนเราก็ชนะมาได้
และแน่นอนว่าการเป็นถึงดีกรีแชมป์ของโครงการ Dtac Accelerate ครั้งล่าสุดย่อมทำให้เราไม่พลาดที่จะขอเคล็ดลับการพิทชิ่งมาฝากเพื่อน ๆ กัน ซึ่งทางคุณตั๊บเองก็แนะนำแบบไม่มีกั๊กด้วยว่า จริง ๆ แล้วการพิทชิ่งมันมีวิทยาศาสตร์ของมันอยู่ ว่าจะทำยังไงให้มันเข้าใจง่ายและน่าสนใจ การพิทชิ่งจริง ๆ ก็คือการขาย เหตุผลหลักที่ทำให้ Fastwork ชนะในการแข่งขันครั้งนี้เลยก็คือเรื่องของ ‘ทีม’ ตอนที่เค้าอยู่ที่นั่น 4 เดือน พวกเค้าโตขึ้นมากถึง 12 เท่าซึ่งเป็นการเติบโตแบบที่ Startup คนไหนก็ยากที่จะทำได้ แต่ Fastwork ก็แสดงให้เห็นแล้ว ถึงแม้ว่าส่วนหนึ่งอาจมาจากการสนับสนุนช่วยเหลือของ Dtac Accelerate เอง แต่หัวใจสำคัญหลักก็คือ คนในทีมที่ช่วยกันทำงานไม่หลับไม่นอนกันมาโดยตลอด
อนาคตข้างหน้าหากเรามองออกไป จะเห็น Fastwork เป็นยังไง
ในอนาคตอันใกล้นี้ พวกเค้าก็หวังว่าจะมีฟรีแลนซ์อยู่ในระบบ 3-4 หมื่นราย แต่ทั้งหมดต้องเป็นฟรีแลนซ์ที่มีคุณภาพ เพราะพวกเค้าคัดฟรีแลนซ์อยู่ตลอดเวลา เพื่อคงไว้เฉพาะฟรีแลนซ์ที่ดีเท่านั้น รวมทั้งทางฝั่งผู้ว่าจ้างก็เช่นกัน นอกจากนี้ความหวังของพวกเค้าก็ยังเป็นการขึ้นเป็นเว็บไซต์สำหรับหาฟรีแลนซ์อันดับหนึ่งในประเทศไทย ก่อนจะขยายไปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับว่าพวกเค้าจะรับมือกับประเทศไทยทั้งหมดได้เมื่อไหร่แค่นั้นเอง
ผมเห็นว่าการที่เราเป็นอันดับหนึ่งในไทยมันสำคัญมาก มันย้อนกลับไปว่าทำไมเรามาทำเมืองไทยตั้งแต่แรก เรากลับมาเพราะเราเข้าใจปัญหาของฟรีแลนซ์ในประเทศไทย แน่นอนคนแรกที่เราอยากช่วยก็คือฟรีแลนซ์ไทยและผู้ประกอบการไทย หลังจากนั้นพอเราเป็นที่หนึ่งแล้ว เราช่วยทุกคนได้แล้ว เราค่อยหาผู้ประกอบธุรกิจจากประเทศเพื่อนบ้านมาใช้บริการฟรีแลนซ์เรา หาเงินเข้าประเทศเรา
คำแนะนำสุดท้ายของ Startup หน้าใหม่ที่พร้อมแซงรุ่นพี่ทุกคนในวงการ ...Fastwork
สิ่งสำคัญที่อยากจะให้เพื่อน ๆ จำ Startup Idol วันนี้ไว้เป็นแบบอย่าง หรือสิ่งที่ Fastwork ยึดถือกันอยู่ตลอดเวลา นั่นก็คือหลัก 3 P โดยเริ่มจาก People (คน), Product (สินค้า) และ Profit (กำไร) อย่างแรกต้องเริ่มจากดูแล People รองลงมาก็คือ Product และอย่างสุดท้ายคือ Profit ให้มองเรื่องเงินเป็นสิ่งสุดท้าย เพราะเราจะหาเงินได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับว่า People ของเรามีความสุขกับสิ่งที่ทำอยู่หรือเปล่า หลาย Startup จะมองในเรื่องอื่น ให้ความสำคัญไม่เหมือนกัน แต่สำหรับ Fastwork แล้ว ‘คนในทีม’ คือสิ่งที่เค้าให้ความสำคัญที่สุด
ที่มา :http://www.bangkokbanksme.com
124.120.152.69
Admin_support
ผู้ดูแล
chalermphol@qmlcorp.com