ประเทศไทย กับเศรษฐกิจยูเรเซีย

Last updated: 24 ก.ค. 2559  |  1984 จำนวนผู้เข้าชม  | 

ประเทศไทย กับเศรษฐกิจยูเรเซีย

ประเทศไทย กับเศรษฐกิจยูเรเซีย : รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์

เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคมที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชาได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียน  รัสเซีย ในขณะเดียวกันก็มีการประชุมในระดับทวิภาคีและได้แสดงเจตจำนงที่ไทยจะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย Eurasian Economic Union – EEU ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่คนไทยไม่คุ้นนัก อีกทั้งมีการตั้งคำถามหาเหตุผลที่ไทยจะเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียในปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 5 ประเทศ ประกอบด้วยรัสเซีย คาซัคสถาน เบลารุส คีร์กีซสถาน อาร์เมเนีย จุดเริ่มต้นของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจเกิดขึ้นในปี 1994 ขณะนั้นประธานาธิบดีคาซัคสถานคือนาย Nazarbayav ได้เสนอแนะการจัดตั้งสหภาพยูเรเซีย Eurasian Union โดยเสนอในช่วงที่ให้สุนทรพจน์ ณ มหาวิทยาลัยแห่งรัฐมอสโก ในเวลาต่อมาจึงนำไปสู่การเรียกร้องของนักการเมือง นักวิชาการ ที่จะให้มีการรวมกลุ่มอย่างแน่นแฟ้นทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง วัฒนธรรม อย่างไรก็ตาม คาซักสถานซึ่งเป็นผู้ริเริ่มแนวคิดกลับไม่ต้องการให้มีการรวมกลุ่มความแน่นแฟ้นถึงขั้นครอบคลุมทางการทหารและการเมือง แต่ต้องการแค่ทางเศรษฐกิจเท่านั้น ทั้งนี้เพราะคาซัคสถานเคยเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียตจึงต้องการรักษาเอกราชของตนไว้ อย่างไรก็ตามรัสเซียและเบลารุสซึ่งเป็นสมาชิกของสหภาพยูเรเซียได้ร่วมกันจัดตั้ง สหภาพทางการเมือง Political union และนำไปสู่การจัดตั้งองค์กร องค์การแห่งสนธิสัญญาความมั่นคงร่วมกัน Collective Security Treaty Organization ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มของพันธมิตรในด้านการป้องกันในกรองความร่วมมือระหว่างรัฐต่อรัฐ

ก่อนปี ค.ศ. 2014 สมาชิกของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียประกอบด้วย 3 ประเทศ คือรัสเซีย คาซัคสถานและเบลารุส ในระยะแรกเป็นการรวมกลุ่มในลักษณะสหภาพทางศุลกากร Customs union หมายความว่า นอกจากมีการรวมกลุ่มในกรอบ Free Trade Area แล้ว ยังมีการดำเนินการให้มีการเก็บภาษีศุลกากรในระดับเดียวกันสำหรับสินค้าที่มาจากประเทศที่ 3 ซึ่งอยู่นอกกลุ่มสมาชิกที่จะนำสินค้าเข้าสู่ 3 ประเทศดังกล่าวให้คิดภาษีในอัตราเดียวกัน

โดยในวันที่ 29 พฤษภาคม 2014 ผู้นำทั้ง 3 ประเทศได้มีการลงนามเพื่อพัฒนาสหภาพศุลกากรยูเรเซียไปเป็นสหภาพทางเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2015 เป็นต้นไป ในเวลาต่อมาเดือนตุลาคมและธันวาคมปี 2014 อีก 2 ประเทศคืออาร์เมเนียและคีร์กิซสถานได้ลงนามเข้าเป็นสมาชิกของสหภาพยูเรเซียโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 2 มกราคม 2015 สำหรับอาร์เมเนีย และวันที่ 6 สิงหาคม 2015 สำหรับคีร์กิซสถาน

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียจึงประกอบด้วยประเทศรัสเซียและอีก 4 ประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต อย่างไรก็ตาม มีอีกหลายประเทศที่แสดงความจำนงอยากจะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งคือกลุ่มประเทศที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของโซเวียต อีกกลุ่มคือประเทศในกลุ่มอาเซียนซึ่งมีเวียดนามที่สนใจเข้าร่วม

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียซึ่งก็คือประชาคมเศรษฐกิจยูเรเซีย ซึ่งหมายถึงการจัดตั้งตลาดร่วม Common market อันหมายถึงการเปิดเสรีทางสินค้า เงินทุน บริการ และคน ในส่วนของการเปิดเสรีสินค้าเป็นการรวมกลุ่มถึงขั้นเขตการค้าเสรี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียมีลักษณะเดียวกันกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน AEC ยกเว้นในกรณีของสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียมีการพัฒนาไกลไปสู่การเป็นมากกว่าเขตการค้าเสรี นั่นคือ การจัดตั้งสหภาพศุลกากร Customs Union ซึ่งหมายความว่าประเทศสมาชิกจะเก็บภาษีนำเข้าในระดับเดียวกันจากสินค้าประเทศที่ 3 ผิดกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนซึ่งไม่ได้รวมกลุ่มถึงขั้นสหภาพศุลกากร เนื่องจากประเทศสิงคโปร์ไม่ได้เก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าประเทศอื่น Free Port ซึ่งเป็นอุปสรรคของประเทศอาเซียนในการจัดตั้งสหภาพศุลกากร

สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย นั้นประกอบด้วยประชากร 188 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศรวม 4 ล้านล้านเหรียญสหรัฐฯ นอกจากนั้นยังมีการประสานนโยบายด้านขนส่ง เกษตร และพลังงาน ลักษณะองค์กรส่วนสำคัญคือ การร่วมมือระหว่างรัฐบาลกับรัฐบาล องค์กรสูงสุดคือ การประชุมสุดยอด ซึ่งประกอบด้วยประมุขของประเทศหรือประมุขของรัฐบาล อย่างไรก็ตาม หน่วยงานหนึ่งคือ คณะกรรมการยูเรเซียจะมีลักษณะเป็นองค์กรเหนือชาติ นอกจากนั้นสหภาพยูเรเซียยังมีการจัดตั้งศาลเพื่อพิจารณาคดีร่วมกันอีกด้วย

การที่ไทยจะเข้าร่วมสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียก็เป็นส่วนที่ดี เนื่องจากสินค้าที่มีแหล่งกำเนิดในประเทศเมื่อนำเข้า 5 ประเทศดังกล่าวจะไม่มีกำแพงภาษี อีกอย่างคือ เป็นการขยายตลาดให้ประเทศไทยทั้งด้านสินค้า บริการ การลงทุน ยิ่งไปกว่านั้นคือ การดึงการลงทุนจากรัสเซียให้เข้ามาในประเทศเป็นการขยายกรอบการค้าของไทยในกรอบโลกาภิวัตน์ ผลกระทบในด้านลบจากการรวมกลุ่มมีน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับ TPP ดังนั้นจึงถือว่า การเดินหมากเข้าสู่สหภาพเศรษฐกิจยูเรเซียจึงเป็นแนวนโยบายที่ควรจะทำในยามที่ประเทศไทยกำลังเผชิญหน้ากับการแข่งขันที่รุนแรงในกรอบความเปลี่ยนแปลงทั้งระดับภูมิภาคและระดับโลก

เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

(MOBILE TECHNOLOGY

5 ก.ย. 2561

GooGreen START UP

16 ก.ย. 2561

Call to Action

16 ก.ย. 2561

Powered by MakeWebEasy.com